เทศบาลตำบลบัวเชด

ได้รับการสถาปนาเป็นหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบ เทศบาล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2542 โดยมีพื้นที่ในเขตของเทศบาลประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร

1.1 ลักษณะที่ตั้งอาณาเขต

ที่ตั้ง เทศบาลตำบลบัวเชด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดสุรินทร์ เป็นเทศบาลขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในพิกัดที่ UB 866061 ห่างจากตัวจังหวัดสุรินทร์โดยทางรถยนต์ประมาณ 65 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถยนต์ประมาณ 511 กิโลเมตร การเดินทางระหว่างเทศบาลกับตัวจังหวัดสามารถทำได้สะดวกโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 2077

อาณาเขต เทศบาลตำบลบัวเชด มีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อดังนี้

• ทิศเหนือ ติดต่อกับพื้นที่ บ้านแกรง ต.สำเภาลูน อ.บัวเชด จ.สุรินทร์
• ทิศใต้ ติดต่อกับพื้นที่ บ้านไกรสรพัฒนา ต.อาโพน อ.บัวเชด จ.สุรินทร์
• ทิศตะวันออก ติดต่อกับพื้นที่ บ้านปะเดียก ต.บัวเชด อ.บัวเชด จ.สุรินทร์
• ทิศตะวันตก ติดต่อกับพื้นที่ บ้านดม ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์

การปกครอง พื้นที่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลบัวเชด ประกอบด้วย 10 ชุมชน ดังนี้

1) ชุมชนบ้านบัวเชด หมู่ที่ 1 
2) ชุมชนบ้านบัวขุนจง หมู่ที่ 2 
3) ชุมชนบ้านปราสาท หมู่ที่ 3 
4) ชุมชนบ้านหมื่นสังข์ หมู่ที่ 4 
5) ชุมชนบ้านตาปิม หมู่ที่ 5 
6) ชุมชนบ้านกระทม หมู่ที่ 6
7) ชุมชนบ้านระมาดค้อ หมู่ที่ 7
8) ชุมชนบ้านโนนสังข์ หมู่ที่ 10
9) ชุมชนบ้านพรสุข หมู่ที่ 12
10) ชุมชนบ้านสันติสุข หมู่ที่ 13

1.2 ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ส่วนใหญ่ของเทศบาลตำบลบัวเชด เป็นที่ราบสูง มีลักษณะพื้นที่คล้ายแอ่งกะทะ คือ มีที่ราบลุ่มเป็นช่วง ๆ มีหนองน้ำธรรมชาติ คือหนองน้ำสาธารณะระมาดค้อ (บึงบัวเชด) และหนอง คลอง บึงเล็ก ๆ จำนวนมาก ตลอดจนสระเก็บน้ำกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะพื้นที่ได้ดังนี้

– ที่ราบ ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ว่าง ส่วนใหญ่อยู่รอบนอกชุมชน คิดเป็นพื้นที่ ประมาณ 2,500 ไร่ หรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 33.33 ของพื้นที่ทั้งหมดของเทศบาล
– ที่อยู่อาศัย ประชาชนในเขตเทศบาลจะกระจายตัวอาศัยอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ ซึ่งคลอบคลุม 10 ชุมชน คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 2,438 ไร่ หรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 32.5 ของพื้นที่ทั้งหมดของเทศบาล
– พื้นที่พาณิชยกรรม ซึ่งเป็นแหล่งการพาณิชย์และบริการ ส่วนใหญ่จะรวมกลุ่มอยู่บริเวณตลาดสดเทศบาล และกระจายไปตามถนนสายหลักในเขตเทศบาล ประกอบด้วย ร้านค้าและห้างร้านต่าง ๆ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 125 ไร่ หรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 1.7 ของพื้นที่ทั้งหมดของเทศบาล
– สถานที่ราชการ เป็นสถานที่ตั้งของหน่วยงานราชการ ได้แก่ ที่ว่าการอำเภอบัวเชด สำนักงานเทศบาลตำบลบัวเชด สถานีตำรวจภูธร สำนักงานเกษตร โรงพยาบาล สถานศึกษา ฯลฯ เป็นต้น คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1,049 ไร่ หรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 13.98 ของพื้นที่ทั้งหมดของเทศบาล
– ศาสนสถาน ตั้งกระจายอยู่ตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ ได้แก่ วัดแสงสว่างราษฎร์บำรุง , วัดบัวราษฎร์บำรุงสุทธิธาราม , วัดกลางบัวเชด , สำนักสงฆ์ศักดิ์ศรีศรัทธาราม และวัดบ้านพรสุข คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 115 ไร่ หรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 1.53 ของพื้นที่ทั้งหมดของเทศบาล
– พื้นน้ำ เทศบาลตำบลบัวเชด มีหนอง คลอง บึง ตามธรรมชาติ และสระเก็บกักน้ำซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ จำนวน 137 ไร่ หรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 1.82 ของพื้นที่ทั้งหมดของเทศบาล ที่มา : ข้อมูลจากที่ดินอำเภอบัวเชด

นอกจากนี้เทศบาลตำบลบัวเชด มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูง คล้ายแอ่งกะทะ โดยมีสภาพพื้นดินส่วนใหญ่เป็น ดินร่วนปนทราย ซึ่งเหมาะแก่การทำการการเกษตรกรรมบางอย่าง เช่น บริเวณที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำนา บริเวณที่ดอนหรือที่ราบสูง เหมาะแก่การเพาะปลูก ปอ มันสำปะหลัง หรือเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

1.3 สภาพภูมิอากาศ

เทศบาลตำบลบัวเชด ได้รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ได้พัดเอาความหนาวเย็นและความแห้งแล้งเข้ามา และยังได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดเอาฝนและความชื้นเข้ามาทำให้มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในรอบปีต่างกัน แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน
– อุณหภูมิสูงสุด ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือน เมษายน จะมีสภาพอากาศร้อนเพราะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนพัดมาจากทะเลจีนใต้ ซึ่งอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในช่วงประมาณ 35.00 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือน มกราคม เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิอยู่ในช่วง 25 .4 องศาเซลเซียส และโดยสภาพทั่วไปอุณหภูมิโดยเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 25 – 30.2 องศาเซลเซียส
– ปริมาณน้ำฝน ในช่วงเดือน พฤษภาคม ถึงเดือน ตุลาคม เทศบาลตำบลบัวเชดได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นลมที่ก่อให้เกิดฝนตกทั่วประเทศ ซึ่งปริมาณน้ำฝนที่สูงสุดในรอบปี คือในปี พ.ศ.2542 มีประมาณจำฝนสูงสุด จำนวน 2,500.00 – 3,000.00 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยต่อปีอยู่ในระหว่าง 1,000.00 – 1,309.00 มิลลิเมตร

Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to TwitterShare with friendsPrint this page